วิทยาศาสตรบัณฑิต (รังสีเทคนิค)

Bachelor of Science (Radiological Technology) | B.Sc.(Radiological Technology)

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย : วิทยาศาสตรบัณฑิต (รังสีเทคนิค)

ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science (Radiological Technology)

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต (รังสีเทคนิค)

ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science (Radiological Technology)

ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : วท.บ. (รังสีเทคนิค)

ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B.Sc.(Radiological Technology)

          คณะรังสีเทคนิค มี “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค” ซึ่งจัดทำตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.) เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นกระบวนการการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศ บูรณาการกับการวิจัยและการบริการ วิชาการเพื่อสร้างบัณฑิตที่มีศักยภาพในวิชาชีพรังสีเทคนิคสอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีทักษะพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิคและสามารถอยู่รอดได้อย่างถูกต้อง

          ในปัจจุบันมีการขยายตัวของการให้บริการทางการแพทย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก และด้วยเทคโนโลยีทางรังสีวิทยาที่มีความเจริญรุดหน้าไม่หยุดยั้ง ประกอบกับมีความขาดแคลนบุคลากรทางรังสีเทคนิคเป็นอย่างมาก ดังนั้นการผลิตบัณฑิตทางด้านรังสีเทคนิคที่มีความรู้ความสามารถจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมต่อไป

          คณะรังสีเทคนิคมีความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัย Komazawa และ มหาวิทยาลัย Juntendo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับโรงพยาบาลเลิดสินด้วย

ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย Juntendo โตเกียว ญี่ปุ่น

ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย Juntendo โตเกียว ญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย Juntendo

          คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ให้เป็นสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่มีคุณภาพและมาตรฐานในการดำเนินการจัดการศึกษา “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค” ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559 ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคที่สำเร็จการศึกษาจากคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่สามารถขอสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จากคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ตรวจประเมินมหาวิทยาลัยรังสิต ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2564

          “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค” เป็นหลักสูตร 4 ปี โดยปีที่ 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน มีการแนะนำให้รู้จักว่าวิชาชีพของรังสีเทคนิคคืออะไร ปีที่ 2 เรียนวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ ปีที่ 3 เรียนรู้ทางวิชาชีพใน 3 สาขาของรังสีเทคนิค คือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และปีที่ 4 เรียนภาคปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริงตามโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยจะไปฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนชั้นนำ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรังสีครบทั้ง 3 สาขา และมีนักรังสีเทคนิคปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์สูงทุกคน ในขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องทำโครงงานเพื่อได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัย

          ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคที่จบจากมหาวิทยาลัยรังสิต จะมีทักษะทางวิชาชีพครบทุกด้าน สามารถทำงานได้ทั้ง 3 สาขา เป็นที่ต้องการของตลาด และมีพื้นฐานที่จะเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิคด้วยการบูรณาการการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศ การวิจัย และบริการทางวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากสอนให้มีทักษะทางวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว ยังสอนให้เค้ามีพื้นฐานความรู้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายได้ประกาศแล้วว่า นักรังสีเทคนิคสามารถเปิดคลินิกของตัวเองได้